Wishbeer
เผยแพร่วัฒนธรรมผ่าน ‘เบียร์’
เจอโรม เลอ ลัวอาร์ (Jerome Le Louer) Founder & Beer Genie, Wishbeer

เผยแพร่วัฒนธรรมผ่าน ‘เบียร์’

เจอโรม เลอ ลัวอาร์ (Jerome Le Louer) Founder & Beer Genie, Wishbeer

โลกใบนี้มีเบียร์มากมายกว่าที่เราคาดคิดไว้อย่างมหาศาล แต่ถ้าอยากจะลิ้มลองโดยไม่ต้องออกไปเสาะแสวงหาที่ไหนไกล แบบนั่งอยู่ที่บ้านแล้วสั่งเบียร์แบรนด์แปลกๆ ผ่านสมาร์ทโฟนมากินเลยจะได้ไหม

จากความสงสัยเบื้องต้นของ ‘เจอโรม เลอ ลัวอาร์’ นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เขามองเห็นไอเดียทำธุรกิจขายและส่งเบียร์หลากแบรนด์ให้กับนักดื่มในกรุงเทพฯ ผ่านช่องทางออนไลน์ขึ้นมา เมื่อได้ไอเดียธุรกิจที่เริ่มชัดเจนและมองเห็นทางเป็นไปได้ เขาและภรรยาช่วยกันทำโปรเจค e-commerce Startup ขายเบียร์ออนไลน์ โดยเขารับหน้าที่เป็นคนสร้างเว็บไซต์ หาสินค้าเข้าร้าน พร้อมตั้งร้านค้าออนไลน์โดยใช้ชื่อว่า ‘Wishbeer’ ขึ้นมาเมื่อปี 2013

“จุดเริ่มต้นของธุรกิจผมเริ่มจากเราสงสัยว่าทำไมเบียร์ที่อยากกินถึงไม่มีขายในท้องตลาด ผมทำงานอยู่เมืองไทยมา 12 ปี ก็ยังไม่เคยเห็นร้านที่ขายเบียร์หลากหลายในแบบที่เราอยากดื่ม ไม่เห็นร้านที่รับสั่งและส่งเบียร์บริการในแบบที่เราต้องการ เวลาเราอยากสั่งเบียร์ดีๆ มากิน ก็ต้องร่วมกับเพื่อน 10 คน เพื่อสั่งกัน 20 ลังแล้วแบ่งกัน พอเริ่มสั่งบ่อยเข้า ผมก็มองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายมากที่จะทำเพราะใช้ทุนไม่สูง ผมคิดจะทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ขายเบียร์ระดับพรีเมียม ประกอบกับงานสุดท้ายก่อนที่ผมจะลาออกมาทำธุรกิจของตัวเองนั้น ผมทำงานเกี่ยวกับเว็บไซต์พอดี ผมเลยเรียนรู้วิธีการสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเอง ก่อนจะสร้างโปรเจคที่ชื่อว่า Wishbeer ขึ้นมา”

Wishbeer เริ่มต้นจากออฟฟิศเล็กๆ ขนาด 50 ตารางเมตร ที่นอกจากจะใช้เป็นที่ทำงานแล้วยังเป็นโกดัง เก็บเบียร์ด้วย แน่นอนว่าแคบมาก ทว่าทุกวันนี้ธุรกิจของเขาเติบโต โกดังขยายใหญ่ขึ้นเป็น 200 ตารางเมตร มีออฟฟิศของตัวเอง มีการพัฒนาเว็บไซต์ พัฒนาระบบขนส่ง รวมถึงสร้างบาร์ที่ตกแต่งในสไตล์ industrial Loft ชื่อ Wishbeer เพียง 3 ปี Wishbeer เดินทางไปไกลมาก แต่กว่าจะมาถึงวันนี้เจอโรม ก็เหนื่อยไม่น้อยกับการปั้นธุรกิจในฝันของตัวเอง

“หลังจากเริ่มต้นสร้าง Wishbeer สิ่งแรกที่ผมทำคือลงทุนในส่วนของการตลาด ในวันนั้นไม่มีใครรู้จัก Wishbeer ไม่มีใครรู้จักผมด้วย ผมก็ต้องไปคุยกับคนที่อยู่ในวงการเบียร์เพื่อบอกว่าเราเป็นใคร กำลังทำอะไร ต้องการให้เขาช่วยอะไร เราต้องชี้แจงว่าไม่ได้เป็นผู้นำเข้าเบียร์ แต่เราขายเบียร์ที่มีอยู่ในประเทศซึ่งหลายดีลเลอร์นำเข้ามา แต่ละบริษัทก็มีเบียร์ไม่เหมือนกัน ดังนั้นผมต้องเดินทางไปคุยกับทุกคนเพราะเราอยากจะมีสินค้าให้ลูกค้าได้เลือกเยอะที่สุดหลายแบรนด์ที่สุด

“แต่ปัญหาคือเบียร์ที่ผมอยากขายก็มีขายอยู่แล้วที่บาร์กับร้านอาหาร ซึ่งราคาสูงมาก เขาเลยกลัวว่าถ้ามาขาย online มันจะถูกเกินไป ภาพลักษณ์ของสินค้าจะดูไม่ดี ลูกค้าที่สั่งเบียร์กับดีลเลอร์ที่เราไปคุยด้วยก็อาจจะไม่ชอบ เราก็ต้องตกลงกับเขาว่า เราจะไม่ขายในราคาถูก ราคากลางตั้งอยู่ที่เท่าไรเราขายเท่านั้น ซึ่งมันก็ดีสำหรับเราด้วย”

อีกหนึ่งเรื่องที่เจอโรม บอกว่าเป็นความโชคดีและเป็นจังหวะที่เหมาะเจาะก็คือ วันที่เขาเริ่มทำธุรกิจก็มีดีลเลอร์นำเข้าเบียร์แบรนด์ใหม่เกิดขึ้นมาอีกมาก เลยยิ่งทำให้เขามีตัวเลือกมากขึ้น เจอโรม ใช้เวลาสร้างแบรนด์อยู่ไม่นาน Wishbeer จึงค่อยๆ เป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับจากลูกค้า รวมถึงการได้ 500 TukTuks มาร่วมลงทุนก็ยิ่งทำให้ธุรกิจเขามีโอกาสเติบโตมากกว่าเดิม

“เราเห็นโอกาสที่จะทำให้บริษัทโตขึ้นแต่ถ้าไม่มีเงินมันโตไม่ได้ โชคดีที่เรามีโอกาสได้ร่วมงานกับ 500 TukTuks ที่มีคุณหมู (ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์) และคุณกระทิง (เรืองโรจน์ พูลผล) ผู้บริหารกองทุนสนับสนุน Startup เงินที่ได้มา ผมก็นำไปพัฒนากิจการได้หลายอย่าง ตอนนี้ทีมของเราครบแล้ว มีทั้งทีมงานการตลาด ฝ่ายไอทีซัพพอร์ต ฝ่ายบริการลูกค้า โดยรวมทีมงานด้านออนไลน์มาร์เก็ตติ้งของเราถือว่าแข็งแรงในระดับหนึ่ง แต่ในส่วนของออฟไลน์มาร์เก็ตติ้งตอนแรกเรายังไม่มี ผมจึงตัดสินใจเปิดบาร์ Wishbeer Home Bar เพื่อช่วยเสริมให้แบรนด์แข็งแรง และยังมีช็อปให้ลูกค้ามาเลือกซื้อเบียร์ของที่ร้านได้ด้วย

“ผมรู้สึกว่าทีมงานของเราในตอนนี้แข็งแรงแล้ว โดยเฉพาะทีมบริการลูกค้า ในแต่ละวันเรามีออร์เดอร์เข้ามาเยอะมาก และพรินเตอร์ก็คือสิ่งที่ช่วยเราในการทำงานได้ง่ายขึ้น เราใช้งานพรินเตอร์เพื่อพรินออร์เดอร์ลูกค้า พรินท์ใบเสร็จ พรินแพ็คเกจสำหรับห่อ พรินท์แผนที่ เรียกว่าพรินท์เอกสารมากมาย ความที่เราทำงานแข่งกับเวลา การส่งของเราไม่อยากให้ล่าช้าถ้าจะมาเสียเวลาเพราะการพรินท์เอกสารช้าผมคิดว่าไม่ดีแน่ ดังนั้น พรินเตอร์ที่ผมเลือกใช้นั้นตอบโจทย์ทั้งพรินท์ได้เร็ว ประหยัด และมีความคมชัด ซึ่ง Epson คือพรินเตอร์ที่เราใช้งานทุกวัน แม้ผมจะทำธุรกิจบนโลกออนไลน์แต่เราไม่เคยปฏิเสธกระดาษเลย”

นอกจากมีทีมงานที่แข็งแรงแล้วธุรกิจของเขาก็แข็งแรงมากขึ้นด้วย ตลอดเวลาสามปีที่ผ่านมาเจอโรม บอกว่า ธุรกิจ e-commerce ถือว่าการเติบโตเป็นบวกทุกปีอย่างน่าดีใจ

“ธุรกิจ e-commerce ของเราเติบโตประมาณปีละ 2 – 3 เท่า และเราก็มุ่งพัฒนาด้านสินค้าเพิ่มขึ้น ตอนนี้ไม่ได้ขายแค่เพียงเบียร์ แต่ยังมีเครื่องดื่มอื่นๆ ให้เลือกด้วย ตอนแรกเราขายเบียร์อยู่ประมาณ 200 ชนิด แต่ตอนนี้เรามีสินค้าให้ลูกค้าเลือกประมาณ 2,000 ชนิด เราน่าจะเป็น Startup สาย e-commerce ที่ขายเครื่องดื่มที่ให้ตัวเลือกมากที่สุดรายหนึ่งก็คงได้ และสามารถสั่งสินค้าได้ตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงคืน”

“แต่ต่อให้สั่งเที่ยงคืนเราก็ส่งให้ในช่วง 5 โมงเย็นถึงเที่ยงคืนอยู่ดี ไม่อย่างนั้นผิดกฎหมาย” เจอโรม ชี้แจงพร้อมหัวเราะ อย่างไรก็ตามแม้กิจการจะโตไว กระนั้นก็ยังมีปัญหาให้เขาแก้ตลอดโดยเฉพาะการทำให้แบรนด์แข็งแรง “จริงๆ แล้วบริการของ Wishbeer ถือว่าเป็นตลาดเฉพาะ อีกทั้งพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยโดยเฉพาะเครื่องดื่มก็ยังน้อยอยู่มากเมื่อเทียบกับที่ยุโรป คนสั่งซื้อเบียร์ออนไลน์กัน 10 – 15% แต่ในเมืองไทยมีคนซื้อเบียร์ราว 2-3% เราจึงเป็นบริการที่ niche market มากๆ (หัวเราะ) ซึ่งเราเข้าใจได้ เราไม่ได้ขายเสื้อผ้า เราขายเบียร์ เบียร์ระดับพรีเมียม และเราขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล ซึ่งไม่สามารถโฆษณาได้ก็ต้องหาวิธีทำการตลาดที่ไม่ผิดกฎหมาย

วิธีไหนที่คุณใช้สร้างแบรนด์ Wishbeer - เราถามต่อ

“เราสร้าง Wishbeer ให้เป็น community ของคนชอบเบียร์ คนที่ชอบเบียร์ก็จะมาที่ Wishbeer จริงๆ แล้วเบียร์เป็นตลาดใหม่ คนไม่ค่อยรู้จักตัวสินค้ามากนัก เช่นเบียร์ตัวนี้คืออะไร เรื่องราวที่อยู่ในเบียร์เป็นอย่างไร ซึ่งคนกินก็อยากเรียนรู้ว่าเบียร์แต่ละชนิดมันมาจากไหน เรื่องราวที่อยู่ในเบียร์เป็นอย่างไร ข้อสงสัยเหล่านี้เราบอกกับลูกค้าได้ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ลูกค้าสนุกในการได้ดื่มเบียร์ ได้เรียนรู้โลกของเบียร์ และในที่สุดพวกเขาก็จะรู้จักเราไปในตัว อีกอย่างเราไม่เคย โปรโมทว่าให้กินเบียร์เยอะๆ เราอยากให้คนกินเบียร์ได้รู้จักวัฒนธรรมของแต่ละชาติผ่านเบียร์มากกว่า”

“เป้าหมายของผมที่วางไว้ในอนาคตคือ อยากจะทำให้ Wishbeer ขยายสาขาไปยังประเทศต่างๆ แต่ในตอนนี้สิ่งเร่งด่วนที่เราจะทำคืออยากให้ผู้บริโภคนึกถึงเรา หากพวกเขาคิดถึงเบียร์ ก็ต้องคิดถึง Wishbeer ซึ่งตอนนี้ช่องทางออนไลน์เปิดโอกาสอย่างมากในการสร้างแบรนด์ ยิ่งมีร้านอาหารของตัวเองในอนาคต ผมเชื่อว่าเราจะแข็งแรงมากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก”

ก่อนหน้าที่เราจะพูดคุยกันอย่างจริงจังเจอโรม เล่าว่าเขาเป็นคนที่เบื่อง่าย ทำงานแต่ละบริษัทประมาณหนึ่งปี หรือไม่ถึงสองปีก็เปลี่ยนแปลงชีวิตไปหาความท้าทายใหม่ๆ แต่กับ Wishbeer เขาอยู่กับโปรเจคนี้มาสามปีแล้ว และดูเหมือนไม่มีวันไหนเลยที่คิดเบื่อ

“มันมีอะไรให้เราทำเยอะแยะมากๆ จนลืมคำว่าเบื่อไปเลย” เจอโรม แวะจิบน้ำแก้วใหญ่ก่อนชวนเราสนทนาต่อ

“ผมเห็นโอกาสในการทำอะไรสนุกๆ อีกมากมาย อีกอย่างเราทำงานด้วยความสนุกสนาน ปัญหาที่เข้ามาคือสิ่งที่เราต้องแก้ไข ส่วนตัวแล้วผมเป็นพวกที่ไม่ยอมแพ้ เราเคยเป็นนักยูโดมาก่อน (หัวเราะ) ผมจะบอกตัวเองเสมอว่าเราแพ้ไม่ได้ การทำธุรกิจก็เช่นกัน ผมไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาและเราอยากที่จะเอาชนะ”

เจอโรม ทิ้งท้ายกับเราว่า ‘หากทำธุรกิจแล้วแก้ปัญหาไม่เป็น ก็ทำธุรกิจอะไรไม่ได้’ ดังนั้นเดินหน้าไปตามทางของตัวเอง ทำในสิ่งที่ดีที่สุด แล้วขอให้สนุกกับสิ่งที่ทำ

website: www.wishbeer.com

Back