Piggipo
กระเป๋าสตางค์ไฮเทค เก็บเงินได้เป็นฟ่อน โดยไม่ต้องอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์
กั๊ก - สุพิชญา สูรพันธุ์ CEO & Co-Founder, Piggipo

Piggipo กระเป๋าสตางค์ไฮเทค เก็บเงินได้เป็นฟ่อน โดยไม่ต้องอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์

กั๊ก - สุพิชญา สูรพันธุ์ CEO & Co-Founder, Piggipo

ปัญหาทางการเงินส่วนใหญ่ของมนุษย์เมืองในยุคนี้ มักหลีกไม่พ้นปัญหาพัวพันจากหนี้สินรุงรังที่ผูกไว้กับบัตรเครดิต สินเชื่อ หรือบริการทางการเงินต่างๆ ซึ่งมีต้นเหตุมาจากการใช้จ่ายเกินประมาณตน จึงส่งผลต่อสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ ทำให้คุณภาพชีวิตถดถอยลง เพราะยังไม่ทันที่จะได้ใจชื่นกับเงินก้อนที่ได้รับมาในแต่ละเดือน ก็ต้องห่อเหี่ยวกับการชำระหนี้ ชีวิตต้องวนลูปอยู่แบบนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

สุพิชญา สูรพันธุ์ CEO & Co-Founder แห่ง Piggipo เคยมีวงจรชีวิตแบบนั้น และตระหนักว่าหากเธอยังคงใช้ชีวิตแบบเดิมต่อไป คงจะมีหนี้สินจากบัตรเครดิตพอกพูนไม่จบสิ้น ในขณะเดียวกันเมื่อมองไปรอบๆ ข้าง เธอก็เห็นวงจรชีวิตของผู้คนที่ไม่ต่างกันกับเธอ ประจวบกับปิ๊งไอเดียที่เกิดขึ้นระหว่างการอ่านหนังสือ "บทเรียนธุรกิจร้อนๆ จาก Silicon Valley” ของ เรืองโรจน์ พูนผล ที่พูดถึงเรื่องสตาร์ทอัพ จึงจุดประกายให้เธอเกิดความคิดระงับปัญหาหนี้สินรุงรังจากบัตรเครดิต ผ่านเลขาฯ ส่วนตัวในรูปแบบแอพพลิเคชั่น และก่อร่างสร้างธุรกิจในนาม Piggipo ขึ้นมา

“ตอนนั้นก็คิดว่าอยากทำแอพลิเคชั่น แล้วต่อยอดเป็นธุรกิจ โดยเราได้ตั้งโจทย์ไว้ว่า ทำยังไงก็ได้ให้คนรู้ว่าค่าใช้จ่ายในอนาคตของเขาเป็นเท่าไร ซึ่งคุณสมบัติของแอพฯ นี้ จะต้องเตือนทันทีเมื่อใช้เงินเกินงบประมาณ เพื่อหยุดก่อหนี้ก่อนที่จะถลำลึกลงไป พัฒนาระบบเรื่อยมา จนในที่สุด Piggipo ก็ถือกำเนิดได้สำเร็จ หลายคนมักถามไถ่ว่า ชื่อนี้มาได้อย่างไร ก็มาจาก 2 คำ คือ Piggi Bank หรือกระปุกออมสินหมู และ Po มาจาก Pocket หรือกระเป๋าสตางค์ เลยใช้ไอคอนเป็นรูปหมูไปด้วย เพราะเราคิดว่าเวลาคนนึกถึงเรื่องการออมเงิน จะคิดถึงหมูออมสิน ส่วนเหตุผลที่เราใช้สีเขียวแทนสีชมพูเหมือนกระปุกออมสินหมูทั่วไป เนื่องจากแบบนั้นมันธรรมดาเกินไป เราอยากเป็นหมูออมสินที่แตกต่าง มีเอกลักษณ์ ซึ่งเรามองว่าสีเขียวเป็นสีที่สดใส และสื่อความหมายที่ดีในเรื่องตัวเลขการเงินที่เป็นบวก จึงออกมาเป็น Piggipo รูปหมูสีเขียวอย่างที่เห็น"

สุพิชญา ทุ่มเททั้งกายและใจเพื่อปลุกปั้นแอพพลิเคชั่น Piggipo แม้เธอจะไม่มีความรู้ด้านไอที ไม่เคยเขียนแอพฯ มาก่อน แต่ความมุ่งมั่นก็นำพาเธอไปเข้าคอร์สเรียนเขียนแอพฯ รวมถึงพยายามเข้ามาอยู่ใน Eco-System ของสตาร์ทอัพ ที่สุดก็พบว่า ลำพังแค่ตัวเธอคนเดียวไม่อาจปลุกปั้นแอพฯ ที่คิดไว้ให้มีประสิทธิภาพอย่างใจหวัง งานแบบนี้ต้องอาศัยมืออาชีพ จึงตัดสินใจหาทีมงานมาร่วมด้วยช่วยกันผลักดัน แล้วก็ได้ดรีมทีมที่มีทั้งนักพัฒนาระบบระดับโปรเฟสชันแนล และมาร์เก็ตติ้งมือทอง เราจึงได้เห็น Piggipo อย่างเป็นรูปธรรมบน App Store และ Google Play

แต่ถึงกระนั้น สุพิชญา ก็ได้เรียนรู้บทเรียนราคาแพงในด้านการบริหาร ด้วยความที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์การบริหารบริษัท แม้จะเต็มไปด้วยความรู้ด้านธุรกิจ ท่องทฤษฎี PDCA (Plan Do Check Action) ได้ขึ้นใจ รู้ว่าการดำเนินธุรกิจต้องมีการวางแผน แล้วค่อยทำ เมื่อทำเสร็จต้องมีการตรวจสอบประเมินผลว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ ถ้ามีข้อผิดพลาดก็ต้องลงมือทำบางสิ่งบางอย่างให้เป็นไปตามแผน หากแต่การนำไปใช้ในก้าวแรกแห่งการเริ่มต้น เธอกลับสอบตก เธอก้าวไปถึงแค่ขั้น PD แต่ไม่เคยไต่ระดับไปยัง CA เลย จากจุดนั้นเธอจึงเรียนรู้จากความล้มเหลวโดยหันกลับมาวิเคราะห์ตัวเอง และรื้อโครงสร้างใหม่ จัดระเบียบให้เป็นระบบ จนในที่สุด เธอก็พิสูจน์ตัวเองได้ภายในระยะเวลา 2 ปีครึ่ง Piggipo มีผู้ใช้งานกว่า 2 แสนคน มีผลตอบรับอยู่ที่ประมาณ 4 ดาวครึ่ง และมีทีมงานที่เข้มแข็ง ครบวงจร

พอมองย้อนกลับไปยังด่านแรกที่ฝ่าด่านมา เธอจึงอดขอบคุณพลังแห่งโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ผลักพาให้ Piggipo มาถึงจุดนี้ไม่ได้

“ตอนนั้นเราไม่มีเงินจากนายทุนเลยสักบาท ดังนั้นสื่อที่เราจะใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ ต้องเป็นช่องทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว เพราะคนใช้งานแอพฯ ยังไงก็ต้องใช้สมาร์ทโฟน คนกลุ่มนี้จะมีเซ้นส์ทางเทคโนโลยี ซึ่งในยุคก่อนที่แฟนเพจเฟซบุ๊คจะมีการเก็บค่าโฆษณาเยอะๆ เราก็คัดสรรเพจที่เข้ากับเรา แล้วก็ส่งอินบ๊อกซ์ไปหาเขาเพื่อขอความกรุณาช่วยลงรีวิวแอพฯ ให้ เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ ส่งอินบ๊อกซ์ไปประมาณ 100 เพจ ก็มีเพจที่โปรโมทให้เราอยู่ประมาณ 5 - 10 เพจ แต่นั่นก็หมายความว่าเราได้ช่องทางสื่อฟรีในการโปรโมทให้คนดาวน์โหลดแอพฯ เราก็ได้ยูสเซอร์กลุ่มแรกมา เมื่อคนกลุ่มนี้เห็นว่าแอพฯ ของเราตอบโจทย์เขาได้ เขาก็เขียนรีวิวและบอกต่อๆ กันออกไป"

"พอรายได้ของเราดีในระดับหนึ่งแล้ว ก็มองต่อไปว่าช่องทางในการหารายได้ของเราจะมีอยู่ 2 ทาง ทางแรกคือขายแอพฯ แบบจ่ายเงิน (In-App Purchases) และอีกทางหนึ่งคือค่าโฆษณา ซึ่งค่าโฆษณาในแอพฯ จะรายได้ไม่ดีเท่าเว็บไซต์ เราจึงหาช่องทางทำเงินใหม่อีกรูปแบบด้วยการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเงิน นอกจากนี้เรายังมีรายได้จากการขายงานวิจัย (Research) เรารับทำงานวิจัยให้กับแบรนด์หรือสถาบันการเงินต่างๆ ที่มีฐานของลูกค้าเป็นผู้ใช้บัตรเครดิต เพราะเรามีฐานข้อมูลอยู่แล้วว่าลูกค้าคนไหนใช้บัตรเครดิตของบริษัทการเงินใด เราก็จะยิงแบบสอบถามได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เขาต้องการ งานส่วนนี้ต้องใช้สื่ออื่นๆ มาร่วมด้วย เช่น โบรชัวร์แนะนำผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ข้อมูลเบ็ดเสร็จครบถ้วน ซึ่งพรินเตอร์จะมีส่วนช่วยในเรื่องการทำงานให้สะดวกยิ่งขึ้น"

แม้ในช่วงเวลานี้ Piggipo จะไม่ใช่รายเดียวในตลาดแอพฯ สายการเงิน หากแต่ สุพิชญา ก็ภูมิใจที่เธอเป็นผู้บุกเบิก ทำให้ผู้ใช้บริการมีความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยเฉพาะยิ่งเป็นการให้บริการด้านการเงินด้วยแล้ว ยิ่งมีความละเอียดอ่อน การที่จะทำให้ผู้ใช้บริการกล้าเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน ต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างความน่าเชื่อถือ เมื่อเธอมีระบบที่ดี และมีทีมที่เข้มแข็ง พาร์ทเนอร์ที่จะร่วมลงทุนด้วยก็ยินดีที่จะมาสานต่อธุรกิจร่วมกัน

แม่ทัพหญิงวัย 26 ปี แห่ง Piggipo เผยว่าเธอภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้ยินผู้คนรีวิวว่าเครื่องมืออันเกิดจากมันสมองของเธอ ช่วยควบคุมการเงินได้ดีขึ้น ทำให้เขารู้ประมาณตนก่อนที่จะเป็นหนี้พอกพูน แต่เหนืออื่นใด เธอก็ได้สร้างเป้าหมายต่อไป ในการช่วยผู้คนที่เป็นหนี้ท่วมตัว ได้เป็นอิสระจากการผูกมัดนั้นเสียที

“ตอนนี้ Piggipo ช่วยระวังให้คนที่กำลังจะเป็นหนี้ หรือเป็นหนี้แล้วนิดหน่อย หยุดมองตัวเองก่อนที่จะเป็นหนี้ก้อนใหญ่ แต่นอกเหนือจากนั้น เราก็อยากจะไปให้สุดปลายน้ำ อยากแก้ปัญหาให้คนที่เป็นหนี้หนักๆ สามารถปลดหนี้ได้ จึงได้เชื้อเชิญ Financial Guru คือคุณ จักรพงษ์ เมษพันธุ์ มาเสริมทัพ เพราะเรามองว่าถ้าเทคโนโลยีบวกกับความรู้ด้านการเงิน น่าจะไปได้ไกลว่าเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว จึงพัฒนาอีกแอพฯ หนึ่งคือ Planpo เพื่อตอบโจทย์คนที่มีหนี้สินอยู่แล้ว ให้สามารถปลดหนี้ได้"

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อก้าวไปสู่การเป็นเลขาฯ ทางด้านการเงิน ที่จะช่วยให้คุณบริหารเงินเป็น มีเงินเก็บจริง และมีฐานะที่ดีขึ้นได้โดยไม่ต้องรอคอยวาสนา

website : www.piggipo.com

Back