Giztix
พลิกตลาดโลจิสทิกซ์สู่โลกออนไลน์
โหน่ง – สิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก CEO & Co-Founder, Giztix

Giztix – พลิกตลาดโลจิสทิกซ์สู่โลกออนไลน์

โหน่ง – สิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก CEO & Co-Founder, Giztix

หากมนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยพื้นฐานปัจจัยสี่ ธุรกิจหนึ่งๆ ก็ดำรงอยู่ได้ด้วยปัจจัยทางธุรกิจฉันใดก็ฉันนั้น

หนึ่งปัจจัยที่เป็นหัวใจขับเคลื่อนธุรกิจก็คือระบบโลจิสทิกซ์ ที่ทำหน้าที่จัดการการขนส่งสินค้า ข้อมูล หรือทรัพยากรใดๆ จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง ซึ่งคุณโหน่ง – สิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท จิสทิกซ์ จำกัด กล่าวกับเราว่า “ถ้าไม่มีระบบโลจิสทิกซ์ สินค้าจะไปถึงลูกค้าได้อย่างไร?”

จิสทิกซ์ (Giztix) เป็นตลาดซื้อขายบริการทางออนไลน์ (E-Marketplace) ด้านโลจิสทิกซ์ โดยแบ่งลูกค้าออกเป็นสองฝั่งคือผู้ให้บริการขนส่ง (Transporter) และผู้ใช้บริการขนส่ง (Shipper) ให้บริการสำหรับธุรกิจที่ต้องการขนส่งสินค้าในประเทศ หรือส่งออก - นำเข้าระหว่างต่างประเทศ โดยผู้ใช้บริการสามารถเข้ามาเลือกผู้ให้บริการที่เหมาะสมกับธุรกิจของตน ทั้งยังสามารถเปรียบเทียบราคา ขอใบเสนอราคา ทำการจอง และชำระค่าบริการผ่านระบบได้ทันที ปัจจุบันมีผู้ให้บริการบนระบบกว่า 300 บริษัท เพื่อที่ว่าตลาดซื้อขายบริการโลจิสทิกซ์จะได้รับความนิยมเหมือนธุรกิจโรงแรมหรือสายการบิน

จุดเริ่มต้นของจิสทิกซ์เกิดจากแรงผลักดันส่วนตัวของคุณโหน่งที่ธุรกิจครอบครัวทำงานด้านโลจิสทิกซ์อยู่แล้ว ด้วยสายตาคนรุ่นใหม่ เขามองเห็นปัญหาการทำงานที่ฝังลึกในวงการมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะระบบไอทีที่ธุรกิจ โลจิสทิกซ์ไทยยังมิค่อยเห็นสำคัญมากนัก หลายบริษัทยังทำงานหลายขั้นตอนซ้ำซ้อนผ่านโทรศัพท์ คุณโหน่งจึงปรารถนาแก้ไขปัญหาดังกล่าว

แต่ด้วยความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกับทางบ้าน เขาจึงแยกออกมาก่อตั้งบริษัทด้วยตัวเอง

“ถ้าความคิดไม่ตรงกัน ก็ไม่สามารถทำงานด้วยกันได้” เขากล่าว “การทำธุรกิจถ้าไม่ได้คุมเงินด้วยตัวเอง การตัดสินใจจะไม่ได้อยู่ที่เรา ผมก็เลยออกมาพิสูจน์ให้เขาเห็นดีกว่า”

จากความเชื่อมั่นในตัวเองและการต่อสู้ฝ่าฟันบนเวทีต่างๆ คุณโหน่งก็พาจิสทิกซ์เข้าสู่การเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) พัฒนา Business Model จนคว้ารางวัลมากมายทั้งในและนอกประเทศ พลิกโฉมตลาดโลจิสทิกซ์สู่โลกออนไลน์ได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามปัญหาหนึ่งที่ตามมาคือความลำบากในการเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มลูกค้าดั้งเดิม (Traditional)

“ความท้าทายของเราอยู่ที่กลุ่มผู้ใช้งานครับ ฝั่งผู้ใช้บริการยังคุ้นชินกับการติดต่อผ่านโทรศัพท์ ส่วนฝั่งผู้ให้บริการมองว่าระบบไอทีเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง”

ถึงแม้ว่าการระบบทำงานส่วนใหญ่จะลดความซ้ำซ้อนและลดปริมาณกระดาษได้แล้ว ทว่าเอกสารบางส่วนยังคงต้องการเอกสารที่เป็นกระดาษอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นงานสื่อสารทางการตลาด (Marketing Material) ใบเสนอราคา ใบวางบิล กระทั่งเอกสารทางกฎหมาย ด้วยเหตุนี้คุณโหน่งจำเป็นต้องเลือกใช้พรินเตอร์สำนักงานที่มีคุณภาพ

“พรินเตอร์ที่ดีต้องราคาประหยัด คุณภาพต้องเนี้ยบ เพราะผมเป็นคนทำงานเนี้ยบเช่นกัน สามารถพรินท์ภาพความความละเอียดคมชัดในระดับเดียวกับโรงงาน ที่สำคัญคือหมึกต้องประหยัดด้วย มีแทงก์ที่มีคุณภาพจากแบรนด์ที่เชื่อถือได้ ต่อมาคือความสะดวกสบายในการใช้งาน ยิ่งต่อ WiFi พรินท์ได้เลยยิ่งดี จะได้ไม่ต้องวุ่นวายกับการต่อสายใดๆ”

ครั้นระบบการทำงานเกิดปัญหา ทีมงานก็จะประชุมทุกอาทิตย์ โดยคุณโหน่งเรียกว่าการ Sprint เป็นการรีวิวปัญหาในรอบสัปดาห์ และหาทางแก้ไขในสัปดาห์ถัดไป สาเหตุก็เพราะการแก้ไขระบบไอทีต้องใช้เวลา หากเกิดปัญหาแล้วไม่รีบจัดการมันจะผลาญเงินไปทุกๆ เดือน

“หากเราอยากประสบความสำเร็จ เราต้องฟังคำแนะนำจากเจ้าของเงินหรือผู้มีประสบการณ์ด้วย เพื่อสร้างกำไรที่เติบโต 50-60% ต่อเดือน เป็น Performance ที่น่าเชื่อถือสำหรับนักลงทุนในการสนับสนุนพัฒนาต่อไป แต่ความได้เปรียบคือเราทำงานในวงการนี้มานานกว่า 4 ปีแล้ว เราจึงมีคอนเน็คชั่นส่วนตัวบ้าง บวกกับเงินทุนจากที่ต่างๆ รวมถึงทุนภาครัฐ มันก็พอมีงบกระตุ้นให้คนเข้ามามองระบบเรา”

แผนต่อไปของจิสทิกซ์จึงเป็นการโฟกัสตลาดส่งออก - นำเข้าระหว่างประเทศ อาทิ สิงค์โปร์ ฮ่องกง มาเลเชีย จีน ลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม และญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มเข้ามาลงทะเบียนในระบบบ้างแล้ว ตั้งเป้าเป็นภารกิจศูนย์กลางบริการ โลจิสทิกซ์แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) บนโลกออนไลน์

“ถึงเวลาแล้วครับที่ธุรกิจต้องข้ามมายังโลกออนไลน์ ทุกอย่างเป็น 4.0 และ Move On Mobile หมดแล้ว ใครที่ Move ก่อนก็จะได้เปรียบ หรือที่เราเรียกว่า First-mover advantage ธุรกิจโลจิสทิกซ์ยัง Move ตามหลังธุรกิจอื่นอยู่ ทั้งๆ ที่โลจิสทิกซ์เป็นธุรกิจที่ใหญ่ติดอันดับ Top 5 ของประเทศด้วยซ้ำ ผมจึงคิดว่าถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนครับ”

เปลี่ยน และพลิกตลาดโลจิสทิกซ์สู่โลกออนไลน์

website : www.giztix.com

Back